top of page

HARIO V60

V60 ดริปเปอร์ที่มีทุกบ้าน


HarioV60, Coffee Dripper, Drip Coffee, Hario

Vector = เส้นสมมุติที่แสดงถึงแนวทาง หรือทิศทาง ↙️

60 Degree = เป็นเหล้าที่แรงกว่า 40 ดีกรี🍾... ไม่ใช่ !! มันคือองศาความลาดเอียงที่เหมาะสมสำหรับการควบคุมการไหลของน้ำเพื่อสกัดกาแฟ (อย่างน้อย Hario ก็เช่ือแบบนั้น)


นั่นคือความหมายที่ซ่อนอยู่ในชื่อ V60 ดริปเปอร์ที่ Hario ภาคภูมิใจ และถูกเลือกใช้โดยยอดฝีมือด้านกาแฟมาโดยตลอด ตั้งแต่มันถูกออกแบบมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว


Hario ในทุกวันนี้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ออกแบบ และผลิตอุปกรณ์กาแฟรายใหญ่ของโลก และอุปกรณ์ที่แทบจะไม่มีใคร(ที่ทานกาแฟ Specialty)ไม่รู้จักนั่นก็คือ Hario V60 Dripper ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ถูกแชมป์ World Brewer Cup เลือกใช้บ่อยที่สุด แต่น้อยคนนักจะรู้ถึงความเป็นมาของ Dripper ที่เป็นที่นิยมที่สุดตัวนี้ วันนี้ ZMITH จะมาเล่าให้ฟังครับ



———————————

The HISTORY

———————————

ก่อนจะมาเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการกาแฟ Hario แต่เดิมนั้นเป็นบริษัทผลิตเครื่องแก้ว “玻璃王”(อ่านว่า ฮะ-ริ -โอ) แปลว่า “ราชาแห่งแก้ว”


เครื่องแก้วที่ผสมจากแร่ธาตุสูตรเฉพาะของ Hario นั้นมีชื่อเสียงด้านความทนทาน โดยเฉพาะต่อความร้อน ตลาดแรก ๆ ที่ Hario จับจึงเป็นเครื่องแก้วที่ใช้ในห้องทดลอง... แล้วจากบริษัทที่ทำเครื่องแก้วในห้องทดลองซึ่งดูไม่ใกล้เคียงกับกาแฟเข้ามาสู่โลกของกาแฟได้ยังไง?


อุปกรณ์กาแฟอะไรที่ดูเหมือนอุปกรณ์ในห้องแลปที่สุดครับ? หลายคนพอจะนึกออกแล้ว และนั่นก็เป็นอุปกรณ์กาแฟชิ้นแรกที่ Hario ทำขึ้นมาขาย เครื่องชงกาแฟแบบ Siphon⚗️ นั่นเอง(ที่ยังคงขายดีมาจนถึงทุกวันนี้) และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ Hario เบนหัวเข้าสู่โลกของกาแฟอย่างจริงจัง


ในช่วงราว ๆ ปี 1980s ในตอนที่การสกัดกาแฟด้วยการแช่(เช่น Siphon) เป็นที่นิยมมาก และแทบจะไม่มีใครสนใจกาแฟแบบ Pour over เลย นักออกแบบของ Hario ก็คิดว่า จริง ๆ แล้วการใช้อุปกรณ์รูปทรงพาราโบลา(กรวยหงาย) น่าจะสกัดกาแฟได้คลีน และเคลียร์กว่านะ (คืออาจจะหงุดหงิดกับกาแฟแบบแช่มานานละ)


ดริปเปอร์ดีไซน์แรกของ Hario นั้นเป็นเพียงลวดเหล็กทรงกรวยที่มีไว้เพื่อวางกระดาษกรองเท่านั้น (อ้าว แล้วไหนละแก้ว? ห๊ะ ราชาแห่งแก้ว) แต่ดริปเปอร์ตัวนั้นไม่สามารถต้านทานกระแสกาแฟ instant (1st Wave) ที่ท่วมท้นในตอนนั้นได้ Hario ก็เลยพับโครงการไป


สิบปีถัดมา Hario ก็ตัดสินใจที่จะปลุกผีดริปเปอร์กลับมาอีกครั้ง คราวนี้เป็นดริปเปอร์ทรงกรวยที่ทำจาก Porcelain หรือกระเบื้องเคลือบ (อ้าวเฮ้ย แก้วล่ะแก้ว? ไอ้ราชาแก้ว!) ซึ่งคราวนี้ไม่แป้กแล้ว ตลาด(โดยเฉพาะญี่ปุ่น)ให้การตอบรับเป็นอย่างดี และด้วย V60 นี่แหละที่ทำให้กาแฟ Pour over ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้




———————————

The DESIGN

———————————

ไอเดียในการออกแบบ V60 นั้นคือความเรียบง่าย เบื้องหลังมุม 60 องศานั้นก็คือรูปโค้ง Parabola ที่ Simple ที่สุด [Y = X กำลัง 2] นั่นเอง (คืนครูกันไปหมดแล้วล่ะสิ... ดูออก) ซึ่งนักออกแบบบอกว่า เป็นมุมที่เหมาะที่สุดที่ให้ประสิทธิภาพในการสกัดที่เหมาะสม


รูใหญ่รูเดียวที่ด้านล่างนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ Brewer สามารถปรับการไหลของน้ำได้อย่างอิสระต่างจากดริปเปอร์ที่มีรูด้านล่างเล็กที่ไม่ว่าจะเทเร็วเทช้า น้ำก็จะไหลลงช้าอยู่ดี ทำให้ไม่สามารถเล่นกับ Water Flow ได้เต็มที่


แล้วลายนูน ๆ ด้านข้างล่ะ มีไว้ทำอะไร? ผมคิดว่าหลายคนน่าจะสงสัย (เพราะผมก็สงสัย) หลังจากการสืบค้น และทดลอง ก็ทำให้รู้ว่า มันมีไว้เพื่อสร้างช่องว่างระหว่างกระดาษกรองกับดริปเปอร์ให้อากาศไหลผ่านได้ ซึ่งจะทำให้น้ำไหลผ่านดริปเปอร์ได้ง่ายขึ้น (Kalita Wave ใช้กระดาษที่เป็นลอน ส่วน Origami เป็นทรงหยัก เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน)


V60 ตัวแรกนั้นทำจากเซรามิค จากนั้น Hario ก็ออกโมเดลที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ ออกมา เช่น แก้ว (สักที) พลาสติก และสุดท้าย โลหะ ซึ่งโมเดลที่แพงที่สุดก็คือดริปเปอร์โลหะที่ทำจากทองแดง ที่มีความไวต่ออุณภูมิมาก ทำให้ Brewer สามารถที่จะเล่นกับอุณภูมิภายในดริปเปอร์ได้ง่ายขึ้น(จริง ๆ คือใช้ยาก เพราะโลหะร้อนเร็ว และในขณะเดียวกันก็คายความร้อนเร็วด้วย)


———————————

The FEATURE

———————————

จากลักษณะต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา จะเห็นว่า V60 เป็นดริปเปอร์ที่ให้อิสระในการสกัดกาแฟสูงมาก Brewer สามารถปรับแต่งสูตรการดริปกาแฟได้มากมาย ซึ่งนี่เองอาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมดริปเปอร์ตัวนี้ถึงได้เป็นที่นิยมมากในหมู่ Pro (และ Non-Pro ด้วย)


พูดง่าย ๆ คือ V60 เป็นดริปเปอร์ที่ “ฝีมือ” ของ Brewer มีผลต่อรสชาติของกาแฟที่ได้สูงมาก พูดอีกอย่างก็คือ... ถ้าไม่เชี่ยวชาญพอ ก็ยากที่กาแฟจะออกมาดี แต่ถ้ามีฝีมือ V60 จะเป็นดริปเปอร์ที่จะทำให้ปรับรสชาติของกาแฟได้ดั่งใจ


 

ดังนั้น ถ้าใครดริปกาแฟด้วย V60 แล้วออกมาอร่อยได้ จงภูมิใจเถอะครับว่า ฝีมือการดริปกาแฟของคุณใช้ได้แล้ว😁 ถ้าใครยังดริปออกมาได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ ZMITH ขอเป็นกำลังใจให้ฝึกฝนต่อไปครับ



305 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page