top of page

Sensory Awareness: Train your mind via coffee

ชิมกาแฟ แลดูใจ by Freda Yuan


Sensory Skill, Sensory Awareness, Coffee Experience, Freda Yuan


เคยสังเกตกันมั้ยครับ? ว่าเวลาที่เราชิมกาแฟ ใจของเราอยู่ที่ไหน? ไปอยู่ที่เพลง BGM ที่เปิดในร้านรึเปล่า? หรือว่าอยู่ที่บาริสตาหน้าตาหน้ามอง? หรือไปอยู่ที่ความคิดที่แทรกเข้ามา?


ใจเราวอกแวกแบบนี้เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แม้แต่ตอนที่เรากำลังเฟ้นหาคำพูดที่จะมาบรรยายกาแฟที่เราดื่มอยู่ เราก็หลุดออกจากมิติของการ “รับรู้” กลิ่นรสของกาแฟไปแล้ว และใจเราไม่ได้วอกแวกแบบนี้เฉพาะตอนดื่มกาแฟ มันเป็นเรื่องธรรมดาของคนส่วนใหญ่ที่จะหันไปสนใจมือถือมากกว่าคู่สนทนาตรงหน้า หรือคิดถึงเรื่องที่จะต้องทำต่อไปมากกว่ากาแฟที่กำลังดริปอยู่

ในคอนเทนท์นี้ ZMITH จะพามารู้จักกับ Freda Yuan แชมป์ UK Cup Taster 3 สมัย และผู้เขียนหนังสือ Sip ’n’ Slurp : A Guid to Expert Coffee Tasting และวิธีที่ Freda ฝึกการชิมกาแฟ และทำให้เธอสามารถผ่านมรสุมชีวิต และอาการป่วยทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า(Depression) และ Bulimia Nervosa (อาการผิดปกติด้านการกิน)


Freda Yuan

เฟรดา หยวน

Freda Yuan เป็นคนไต้หวันแต่กำเนิด และรู้ตัวว่าตัวเองอยากเป็น Barista หลังจากทำงานที่ Mr.Tulk Cafe ในเมลเบิร์น Freda คิดว่าจะเดินทางไปเก็บสั่งสมประสบการณ์การทำงานกาแฟที่ต่างประเทศ เพื่อที่จะกลับมาเปิดร้านกาแฟของตัวเองในไต้หวัน


Taylor St Cafe ร้านที่ Freda ได้งานเป็น Barista เสิร์ฟกาแฟวันละประมาณ 1300 แก้ว ทุกวัน!! ทำไปสัก 2 ปี Freda ก็รู้สึกว่า... ชีวิตนี้น่าจะทำกาแฟไปพอแล้วแหละ ไม่เอาละเปิดร้านกาแฟ... หลังจากนั้น Freda ก็หันเหไปลงคอร์สเรียนทั้งคอร์ส Q (ซึ่งผ่านตั้งแต่รอบแรก) และคอร์ส SCA จนได้เป็น Authorized SCA Trainer เพื่อจะเพิ่มโอกาสในการหางาน และต่อวีซ่า... ซึ่งผลคือ หางานยากกว่าเดิมอีก!! เพราะนายจ้างบอกว่าเธอ Over Qualified ในขณะที่ประสบการณ์(จริง)น้อยเกินไป

แต่มันก็ทำให้ Freda รู้ว่า สิ่งที่เป็น Passion ของเธอจริง ๆ คือ “การชิมกาแฟ” ต่างหาก เพราะการชิมกาแฟนั้นเป็นงานที่จำเป็นมากสำหรับอุตสาหกรรมกาแฟ สำหรับโรงคั่วแล้ว การควบคุมคุณภาพผ่านการชิมเป็นทั้งหน้าตา และความน่าเชื่อถือ ซึ่ง Freda รู้สึกว่า นี่แหละคือที่ของเธอ


ในช่วงวัย 20 Freda มีอาการของโรค (Purging)Bulimia Nervosa ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่จะทำให้มีพฤติกรรมการกินแบบ “ยัด” ลงไปเยอะ ๆ แล้วก็ไปล้วงคออ้วกออก เพราะกลัวอ้วน... ซึ่งในไต้หวัน ก็คล้าย ๆ ไทย ที่การไปพบจิตแพทย์หมายถึงการยอมรับว่า “เป็นคนบ้า” ซึ่งการแก้ปัญหาพฤติกรรมการกินไม่ได้ยิ่งทำให้เครียด และสิ้นหวัง จนในที่สุด Freda ก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกโรค


จนในที่สุดก็ต้องไปพบจิตแพทย์ที่อยู่ไกลบ้าน (เพื่อป้องกันการเม้าท์มอย) ซึ่งเธอบอกว่าชีวิตช่วงนั้นติดขัดไปหมด ไหนจะป่วย ไหนจะต้องเดินทางไกลไปหาหมอ เหมือนกับชีวิตจมปลักหยุดนิ่ง(ในจุดที่แย่ด้วย) และสิ่งที่ทำให้ Freda เริ่มหายจากอาการป่วยก็คือการทำงานกับ “กาแฟ” เพราะการอาเจียนจะทำให้ปุ่มรับรสเสียหายจากกรดในกระเพาะ และทำให้ชิมกาแฟไม่รู้เรื่องไปเป็นสัปดาห์

ด้วยความต้องการที่จะพัฒนา Sensory Skill ให้ดี Freda จึงหันมาศึกษาจริงจังเกี่ยวกับอาการที่ตัวเองเป็น และมุ่งมั่นที่จะสร้างวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น การทำสมาธิ(Meditation) การวิ่งออกกำลังกาย และ Self-Talk (การพูดคุยกับตัวเอง) เป็นสิ่งที่ Freda เพิ่มเข้ามาในชีวิตประจำวัน และมันทำให้ทั้งสุขภาพ และความสามารถในการทำงานของเธอดีขึ้น สิ่งที่ Freda เรียกว่า Sensory Awareness นั้นนอกจากจะเพิ่มความสามารถในการชิมกาแฟแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้เธอสามารถมีความสุขกับกาแฟ และทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น และเธอเชื่อว่า ถ้ามันมีประโยชน์กับเธอ มันก็น่าจะมีประโยชน์กับคนอื่นเช่นกัน

Credit Image: www.cupnorth.co.uk/
Freda Yuan 3 Times UK Cup Tasters Champions

Sensory Awareness

สัมผัสด้วยความตื่นรู้


Sensory คือ “ประสาทสัมผัส” และ Awareness คือ “การตระหนักรู้” เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกัน จะหมายถึง “การสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ด้วยความตื่นรู้” ฟังดู Zen มาก ๆ (Freda ก็เขียนไว้เหมือนกันว่ามัน Zen มาก) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราดูหนัง พร้อมกับกินป๊อปคอร์นไปด้วย เราจะไปโฟกัสอยู่กับหนัง รู้ตัวอีกทีป๊อป คอร์นก็หมดไปแหล่ววว... นั่นคือ Sensory เราก็ทำงานอยู่ตอนที่กินป๊อปคอร์น แต่เราไม่มี Awareness นั่นเอง


อธิบายให้เป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ สมองของเรายุ่งอยู่กับการประมวลผลข้อมูลทาง Sensory ที่มาจากตา กับหู จนสัญญาณ Sensory จากปาก และจมูก ถูกละเลยไป ซึ่งนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราไม่มี Sensory Awareness กับสิ่งที่กำลังชิมอยู่ ซึ่งสำหรับกาแฟก็เช่นกัน การชิมที่สามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นรสได้ชัดเจน จะต้องอาศัยทั้ง Sensory ที่ดีพอที่จะสัมผัสได้ และ Awareness หรือใจที่มีสมาธิ ไม่วอกแวกไปที่อื่น ซึ่ง Freda ได้ให้หลักในการเพิ่ม Sensory Awareness เอาไว้คือ “อยู่กับปัจจุบัน(Be Present)” และ “ใจที่ว่าง(Emptiness)”

Be Present

อยู่กับปัจจุบัน


หลักการนี้ Freda ได้มาจากการอ่านหนังสือ “The Power of NOW” ของ Eckhart Tolle ที่อธิบายว่า “ความคิดไม่ใช่เรา” และความคิดมักจะเป็นอุปสรรค์ต่อการมองสิ่งที่เรารับรู้ มองโลก รวมถึงตัวเราเองด้วย ซึ่งการเป็นอิสระจากความคิดนั้น จะทำให้เราสมารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น คำถามคือเราจะเป็นอิสระจากความคิด และการตัดสินได้ยังไง?

ความคิดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ คำตัดสินภายในใจก็เช่นกัน เวลาเราชิมกาแฟความคิดต่าง ๆ นา ๆ จะผุดขึ้นมาในใจเราเสมอ “กาแฟตัวนี้อร่อย” “กาแฟตัวนี้เหมือนกาแฟคุณภาพต่ำ” “กาแฟตัวนี้แต่งกลิ่นแน่ๆ” เราไม่มีทางที่ไปห้ามความคิดพวกนี้ได้ สิ่งที่เราทำได้คือ “รู้ทัน” ว่ามันเป็นเพียงความคิด และปล่อยมันไป ยิ่งเรา “รู้ทัน” มากเท่าไหร่ Awareness หรือการตื่นรู้ของเรายิ่งมากขึ้น (ตรงข้ามกับความเข้าใจทั่วไปที่ว่า ให้ ”ทำ” ใจอยู่กับปัจจุบัน) เพราะความคิดเป็นสิ่งที่เราบังคับไม่ได้ แต่เราสามารถ “ฝึก” ให้เราไม่ “หลง” ไปกับความคิดได้... สิ่งที่ตรงข้ามกับการ “หลง​“ ก็คือการ “รู้” นั่นเอง เมื่อเราฝึกที่จะ “รู้ทัน” บ่อย ๆ ใจของเราจะกลับมาอยู่ที่ปัจจุบันทุกครั้งที่ “หลง” ไปคิด (แต่กว่าจะถึงจุดนี้ก็ต้องฝึกกันหนักอยู่)


แต่เปลี่ยนจาก “คิดว่ารู้” มาเป็น “รู้ว่าคิด” เราก็จะสามารถ “อยู่กับปัจจุบัน(Be Present” ได้แล้ว


การอยู่กับปัจจุบันก็คล้ายกับการดริป หรือชิมกาแฟ เป็นเรื่อง Simple มาก ๆ (แต่ไม่ง่ายนะจ๊ะ)



Emptiness

จิตว่าง


Freda บอกว่าเราทุกคนล้วนมี “มุมมอง(Perspective/Mindset)” ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากประสบการณ์ชีวิต การศึกษา วัฒนธรรม และการเลี้ยงดู ซึ่งมุมมองนี้ก็คือ “เลนส์” ที่เราใช้มองโลก และรับรู้ และตัดสินสิ่งต่าง ๆ ซึ่งตราบใดที่เรายังรับรู้ผ่านเลนส์ เราก็ไม่มีทางรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่าง “เป็นกลาง” ได้

ซึ่งการที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่าง “เป็นกลาง” เราจะต้องอยู่กับปัจจุบันตรงหน้า ไม่หลงไปกับความคิด ความเชื่อ ความเคยชิน ที่สั่งสมมาผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ เมื่อชิมกาแฟ มันไม่เกี่ยวกับว่าเราจะเคยชิมกาแฟมาแล้วกี่ตัว ผ่านคอร์ส Sensory มาแล้วกี่คอร์ส สิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่สัมผัสได้ ณ ขณะนี้ ตอนนี้ เท่านั้น... ถอดเลนส์ออก แล้วมองโลก และยอมรับอย่างที่มันเป็น (Accept what is)


Freda เล่าว่า จากหลักการสองอย่างนี้ เธอก็เรียนรู้ว่า “ความคิด” เป็นเหมือน “ลมหายใจ” ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ มันจะไม่มีวันหยุด ซึ่งความเข้าใจนี้ทำให้เธอตัดสินตัวเองน้อยลง เริ่มรักตัวเองมากขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้นด้วย ซึ่งเธอเอาหลักการตรงนี้มาใช้กับการชิมกาแฟ และมันก็ได้ผลอย่างดีมาก ๆ เธอบอกว่า เวลาชิมกาแฟด้วยการมี Sensory Awareness นั้นทำให้เธอมีความสุขมาก เพราะเธอได้สัมผัสกับตัวตนที่แท้จริงของเธอ “ตัวตน” ที่ไม่มีทั้งเรื่องเกียรติยศ ความสำเร็จ หรือเรื่องไร้สาระใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง


การมี “สติ” อยู่กับปัจจุบันในชีวิตประจำวัน และรับรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากการตัดสินล่วงหน้านั้นฟังดู Zen มาก ๆ และ Freda เองก็ใช้เวลาอยู่พักใหญ่กว่าจะเข้าใจ แต่เธอรับประกันว่า มันคุ้มค่ามาก ๆ


Conclusion

สรุป


สิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของ Freda ก็คือ ไม่ว่ากาแฟ หรือชีวิต มันย่อมมีดี และไม่ดีปะปนกันไป แต่ถ้าเรามองผ่านเลนส์ของปัญหา เราจะพบแต่สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจเต็มไปหมด ถ้าปลดเลนส์ออกไป เราจะเห็นว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างที่มันเป็น รสของกาแฟ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม กลิ่นดอกไม้ กลิ่นควัน กลิ่นคั่ว มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ถ้าเราหลงไปกับคำตัดสินในใจจากการจิบครั้งแรก ความคิดนั้นมันอาจจะทำให้เราพลาดสิ่งที่เหลือในกาแฟแก้วนั้น หรือทำให้ประสบการณ์กาแฟในขณะนั้นกลายเป็นเรื่องน่าเสียดายไปเลยก็ได้ ซึ่งเราสามารถฝึกที่จะ “อยู่กับปัจจุบัน(Be Present)” ด้วย “ใจที่ว่างเปล่า(Emptiness)” จากคำตัดสินได้โดยการฝึกที่จะ “รู้ทัน” ความคิด และคำตัดสินที่ลอยขึ้นมาในหัวของเรา ยิ่ง “รู้” บ่อยเท่าไหร่การ “ตื่นรู้(Awareness)” ของเราก็ยิ่งแข้มแข็งขึ้นเท่านั้น และจะทำให้เรารับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งกลิ่นรสของกาแฟด้วย

กาแฟ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อาศัยกำลัง และความพยายามของคนจำนวนมาก กว่าจะมาถึงมือเรา ดังนั้นการเสพย์ประสบการณ์กาแฟให้ชัดเจนด้วย “จิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง” จะถือเป็นการให้เกียรติ์บุคคลทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังกาแฟแก้วนั้นได้อย่างดี เพราะประสบการณ์คืองานคราฟท์


265 views0 comments

Recent Posts

See All

Comentarios


bottom of page